ระวังจอตาเสื่อมจากเบาหวาน
โรคเบาหวาน พบได้ในทุกอายุ แต่โดยทั่วไปมักพบในผู้ใหญ่ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติได้กับเนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกาย รวมทั้งเนื้อเยื่อของดวงตา โดยเฉพาะจอตา เมื่อเกิดกับจอตา เรียกโดยทั่วไปว่า เบาหวานขึ้นตา หรือ เบาหวานกินตา ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า โรค หรือ ภาวะจอตาเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic retinopathy) ทั้งนี้ เมื่อปล่อยปละละเลย ดูแลไม่ถูกต้อง อาจเป็นสาเหตุให้ตาบอดถาวรได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อการดูแลตนเอง ป้องกันการเกิดตาบอดถาวร
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องรับการตรวจตา?
ในสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ ยาควบคุมเบาหวานยังไม่ดีพอ ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีอายุสั้น แต่ปัจจุบันการควบคุมเบาหวานดีขึ้นมาก ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงมีโอกาสพบโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานมากขึ้น โรคเบาหวานก่อให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกาย จึงมีผลต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่เสื่อมจากเบาหวาน แม้ว่าจะไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้ตาบอดเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต
การตรวจดวงตา นอกจากช่วยป้องกันตาบอดได้แล้ว ยังทำให้ทราบว่า หลอดเลือดในอวัยวะอื่นก็อาจมีความผิดปกติแบบที่พบในจอตาด้วย การตรวจตาจึงจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับการตรวจตาเมื่อไหร่?
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับการตรวจตา แม้ว่าตาจะมองเห็นปกติก็ตาม โดยระยะเวลาที่ควรได้รับการตรวจครั้งแรก และติดตามผล ซึ่งแนะนำโดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย คือ
- ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นเบาหวานเมื่อมีอายุ 0-30 ปี ควรตรวจตาหลังเป็นเบาหวาน 5 ปี หลังจากนั้นควรตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง
- ถ้าเป็นเบาหวานตอนอายุ 31 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจตาทันทีที่พบเบาหวานและตรวจตาต่อเนื่องอย่างน้อยปีละครั้ง
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรตรวจตาทันทีที่ตั้งครรภ์หรือใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ทั้งนี้หากการตรวจแต่ละครั้ง พบเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย จักษุแพทย์จะแนะนำตรวจบ่อยยิ่งขึ้น และผู้ป่วยควรพบจักษุแพทย์ตรงตามนัดเสมอ
โรคตาอะไรบ้างที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน?
ผู้ป่วยเบาหวานอาจพบโรคตาต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป แต่อาจพบในอายุที่น้อยกว่า เป็นบ่อยกว่า โรครุนแรงกว่า รักษาได้ยากกว่า เช่น ต้อกระจก ต้อหิน การอักเสบของขั้วประสาทตา อัมพาตของกล้ามเนื้อลูกตา (กล้ามเนื้อใช้ในการเคลื่อนไหวดวงตา) การติดเชื้อของดวงตา ซึ่งทั้งหมดนี้การรักษาเป็นแบบเดียวกับในคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน
แต่มีอยู่โรค หรือ ภาวะหนึ่งที่สำคัญ พบเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น คือ โรคจอตาเสื่อมจากเบาหวาน ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนานๆ โดยเฉพาะเบาหวานที่ต้องพึ่งการใช้ยาอินซูลิน แต่ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นเบาหวาน จะทำให้พบโรคจอตาเสื่อมนี้น้อยลง
เบาหวานขึ้นตามีอาการอย่างไร?
อาการที่อาจพบได้จาก จอตาเสื่อมจากเบาหวาน คือ
- อาจไม่มีอาการอะไรเลยในระยะแรก การมองเห็นปกติ จึงทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์
- ตามัวลงเล็กน้อย หากโรคที่จอตาลุกลามมายังจุดรับภาพที่เรียกว่า มาคูลา(macula) ตาจะมัวลงอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่ามัวตามอายุที่มากขึ้น จึงละเลยไม่มารับการตรวจรักษา
- อาจมองเห็นภาพบิดเบี้ยว ถ้าโรคก่อให้จอตามีการบวมน้ำหรือมีการตายของเซลล์จอตาเป็นหย่อมๆ
- มีลานสายตา ที่ผิดปกติ อาจเห็นมืดไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยเกิดจากหลอดเลือดจอตาบางเส้นมีการอุดตัน ทำให้เซลล์รับรู้การเห็นบริเวณที่ขาดเลือดไม่ทำงาน ตาจึงมืดเป็นแถบๆ
- ตามืดลงอย่างฉับพลัน มักเกิดในรายที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นตาอย่างฉับพลัน
เบาหวานขึ้นตาเกิดได้อย่างไร?
การเกิดเบาหวานขึ้นตา เริ่มจากหลอดเลือดในจอตาเกิดความผิดปกติ มีการอักเสบสาเหตุจากเบาหวาน ต่อจากนั้นมีการโป่งพองเป็นหย่อมๆจากผนังหลอดเลือดผิดปกติ ตามด้วยมีเลือดและน้ำเหลืองซึมออกมาจากหลอดเลือด กระจายอยู่ทั่วๆในจอตา หากปล่อยทิ้งไว้จะมีเลือด น้ำเหลืองซึมมากขึ้น ตามด้วยจอตาขาดเลือด จึงเกิดการตายของจอตา ในระยะแรกอาจเป็นการตายกระจัดกระจาย นานเข้ามีการตายมากขึ้น เซลล์รับรู้การเห็นในจอตาเหลือน้อยลงๆ การมองเห็นจะลดลงมากขึ้นๆตามลำดับ
นอกจากนั้น ในธรรมชาติ เมื่อหลอดเลือดที่จอตาเสีย จะมีกลไกของร่างกายก่อให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นในจอตาหลอดเลือดที่เกิดใหม่มีผนังไม่แข็งแรง ฉีกขาดได้ง่าย จึงเกิดเลือดออกในจอตา ทำให้ตามัวลงอย่างฉับพลัน หรือเมื่อมีหลอดเลือดเกิดใหม่ มักจะมีเนื้อเยื่อเป็นพังผืดเกิดใหม่ด้วย ทั้งพังผืดและหลอดเลือดเกิดใหม่ จะยึดดึงจอตาให้หลุดลอกเป็นหย่อมๆ และดึงรั้งจนหลุดลอกหมดทั้งจอตา ทำให้ตาบอดสนิทในที่สุด
รักษาโรคเบาหวานขึ้นตาได้อย่างไร?
เมื่อเกิดเบาหวานขึ้นตา หรือจอตาเสื่อมจากเบาหวาน มีแนวทางการรักษา คือ
- เมื่อเพิ่งเริ่มเป็นโรคควรควบคุมเบาหวานอย่างเคร่งครัด โดยยังไม่ต้องมีการรักษาทางดวงตา แต่จักษุแพทย์จะนัดตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ เมื่ออาการทางจอตาคงที่ ไม่เลวลง ก็ยังไม่ต้องรับการรักษาทางตาอะไรที่เป็นพิเศษ
- หากโรคที่จอตาเป็นมากขึ้น การรักษา คือ รักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยเป็นการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น เป็นการทำลายหลอดเลือดเกิดใหม่ด้วยแสงเลเซอร์ และทำลายจอตาที่ตายเป็นหย่อมๆ (จอตาที่เสียหาย จะเร่งให้เกิดหลอดเลือดใหม่ที่เราไม่ต้องการ) การรักษาด้วยแสงเลเซอร์นี้ อาจต้องทำหลายครั้ง จนกว่าความผิดปกติของจอตาสงบลง และในบางภาวะเมื่อมีจอตาตรงกลางบวม อาจรักษาด้วยการฉีดยารักษาการบวมเข้าในตาโดยตรง
- ถ้ามีเลือดออกในน้ำวุ้นตาหรือมีพังผืดดึงจอตาหลุดลอก ต้องรีบรักษาโดยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตา ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ผลรักษาอาจไม่แน่นอน หากปล่อยปละละเลยมาถึงขั้นต้องผ่าตัดน้ำวุ้นตา สายตามักจะเสียไปค่อนข้างมากแล้ว
ควรดูแลตนเองอย่างไร?
หากท่านเป็นเบาหวาน ควรรักษาให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามสุขภาพ
รับประทานยาเบาหวานอย่างสม่ำ เสมอ ปฏิบัติตามแพทย์เบาหวาน และพยาบาลแนะนำ พบแพทย์รักษาเบาหวานสม่ำ เสมอ นอกจากนั้น ไม่ควรลืมที่จะไปรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ และปฏิบัติตามจักษุแพทย์แนะนำ สม่ำเสมอเช่นกัน